วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท
ประกอบด้วย ๑๒ องค์ธรรม  เป็น ๑๑ องค์แห่งเหตุปัจจัย
 ๑. อวิชชาร่วมกับอาสวะกิเลสเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร
อวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรม ร่วมด้วยอาสวะกิเลสที่สั่งสมจดจำ  จึงเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงมี สังขารกิเลสเกิดขึ้น
 ๒. สังขารเป็นปัจจัย  จึงมีวิญญาณ
สังขาร สิ่งปรุงแต่งทางใจ ตามที่เคยสั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติไว้แต่อดีต(อาสวะกิเลส)จึงทำให้เกิดการกระทําทางกาย,วาจา,ใจ เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ ขึ้นรับรู้ อันเป็นไปตามธรรมของชีวิต
 ๓. วิญญาณเป็นปัจจัย  จึงมีนาม-รูป
วิญญาณ กระบวนการรับรู้ของเหล่าอายตนะหรือทวารทั้ง ๖ ของชีวิต จึงรับรู้ในสังขารที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปัจจัย จึงมี นาม-รูป
 ๔. นาม-รูปเป็นปัจจัย  จึงมีสฬายตนะ
นาม-รูป ทำให้รูปนามหรือขันธ์๕ที่มีอยู่แล้ว แต่นอนเนื่อง ครบองค์ของการทำงานตามหน้าที่ตนคือตื่นตัว เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ
 ๕. สฬายตนะเป็นปัจจัย  จึงมีผัสสะ
สฬายตนะ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ เข้าทำงานตามหน้าที่แห่งตน เนื่องเพราะนาม-รูปครบองค์ตื่นตัวแล้ว เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ
 ๖. ผัสสะเป็นปัจจัย  จึงมีเวทนา
ผัสสะ การประจวบกันของสฬายตนะ(อายตนะภายใน) & สังขาร(อายตนะภายนอก) & วิญญาณ ทั้ง๓ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา
 ๗. เวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา
เวทนา การเสวยอารมณ์หรือความรู้สึกรับรู้ที่เกิดจากการผัสสะ เป็นสุขเวทนาบ้าง, ทุกขเวทนาบ้าง, อทุกขมสุขบ้าง เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา
 ๘. ตัณหาเป็นปัจจัย  จึงมีอุปาทาน
ตัณหา กามตัณหาในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส, ภวตัณหา-ความอยากวิภวตัณหา-ความไม่อยาก เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน


๙. อุปาทานเป็นปัจจัย  จึงมีภพ
อุปาทาน ความยึดมั่น,ความถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจในตน,ของตนเป็นหลักสำคัญ เป็นปัจจัย จึงมี ภพ
 ๑๐. ภพเป็นปัจจัย  จึงมีชาติ
ภพ สภาวะของจิต หรือบทบาทที่ตกลงใจ อันเป็นไปตามอิทธิพลที่ได้รับจากอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ
 ๑๑. ชาติเป็นปัจจัย  จึงมีชรา-มรณะ พรั่งพร้อมด้วย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส หรืออาสวะกิเลสนั่นเอง
ชาติ อันคือ ความเกิด จึงหมายถึง การเริ่มเกิดขึ้นของกองทุกข์หรืออุปาทานทุกข์ ตามภพหรือสภาวะ,บทบาทที่ตกลงใจเลือกนั้น  เป็นปัจจัยจึงมี  ชรา-มรณะพร้อมทั้งอาสวะกิเลส
ชรา-มรณะ พร้อมทั้ง อาสวะกิเลส    เมื่อมีการเกิด(ชาติ)ขึ้น  ก็ย่อมมีการตั้งอยู่ระยะหนึ่งแต่อย่างแปรปรวน(ชรา)  แล้วดับไป(มรณะ)เป็นธรรมดา  ดังนี้
            ชรา - ความเสื่อม ความแปรปรวน  จึงหมายถึง ความแปรปรวนความผันแปร ความวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ อันคือการเกิดอุปาทานขันธ์ ๕ ขึ้นและเป็นไปอย่างวนเวียนซํ้าซ้อน และเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายอย่างต่อเนื่อง
            มรณะ - การดับ การตาย จึงหมายถึง การดับไปของทุกข์นั้นๆ อันพรั่งพร้อมกับการเกิดขึ้นเป็นอาสวะกิเลส - อันคือความจำ(สัญญา)ได้ในสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวหรือกิเลส ที่เกิดขึ้น  จึงเป็นความจำเจือกิเลสที่อยู่ในสภาพนอนเนื่อง แอบหมักหมุมหรือสร้างรอยแผลเป็นอยู่ในจิตหรือความจำ อันจักยังผลให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นอีกในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน  กล่าวคือ
            อาสวะกิเลส - ความจำเจือกิเลสที่ตกตะกอนนอนก้น นอนเนื่องอยู่ในจิต  ซึ่งเมื่อผุดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ  หรือเกิดแต่เจตนาขึ้น  หรือเกิดแต่การกระตุ้นเร้าของการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับอารมณ์ใดก็ตามที ก็จะไหลไปซึมซาบย้อมจิต ซึ่งจะไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาอีกครั้ง ดังเหตุปัจจัยแรก  ดังนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น