วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กรรมในความหมายตามหลักพุทธศาสนา

กรรมในความหมายตามหลักพุทธศาสนา


คำว่า  “กรรม”  แปลว่า  การกระทำ   มีความหมายเป็นกลาง ๆ   คือ  การกระทำ   ยังไม่ถือว่าดีหรือชั่ว   กรรมเป็นกฎแห่งสาเหตุเกี่ยวกับศีลธรรม  คำว่า  “การกระทำ”   (กรรม)  หมายถึงการกระทำทุกอย่างที่แสดงออกจากตัวเรา   เช่น  การแสดงออกทางกาย (กายกรรม)  ทางวาจา (วจีกรรม)   และทางใจ (มโนกรรม)



โดยหลักมูลฐานแล้ว  กรรมก็คือ เจตนา  ดังคำนิยามศัพท์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า  “เจตนาหํ  ภิกฺขเว  วทามิ  เจตยิตวา  กโรติ   กาเยน  วาจาย   มนสา”   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราขอบอกว่า  เจตนาคือกรรม  (เป็นตัวกรรม)   เมื่อมีเจตนาแล้ว  คนเราก็ลงมือกระทำการด้วยกาย  วาจา   และด้วยใจ   หมายความว่า  การกระทำที่จะเป็นกรรมได้นั้น   จะต้องมีเจตนา   คือ  ความตั้งใจ  จงใจ   แล้วกระทำการลงไปโดยใช้เครื่องมือ  คือ  กาย  วาจา และใจ



หลักคำสอนเรื่องกรรม  นับว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของพุทธศาสนา  ซึ่งทำให้พุทธศาสนาแตกต่างไปจากลัทธิศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิศาสนาประเภทเทวนิยมซึ่งคำสอนเรื่องกรรมของลัทธิศาสนาประเภทเทวนิยม  สอนให้คนเรามอบกายถวายชีวิตของตนไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก  เช่น  ความเป็นไปของชีวิตจะต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้า   พระองค์จะเป็นผู้ลิขิตชีวิตของสรรพสัตว์ให้เป็นไป   ที่เรียกกันว่า  “พรหมลิขิต”   เป็นต้น   แต่พุทธศาสนากลับปฏิเสธอำนาจของสิ่งภายนอกทั้งหมด   แต่สอนให้เชื่ออำนาจของผลกรรมของตนเองว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ   และเป็นสิ่งจำแนกสรรพสัตว์ให้แตกต่างกัน  หรือเรียกกันว่า  “กรรมลิขิต”

องค์ประกอบของกรรม



กรรมหรือการกระทำที่จะถือว่าสมบูรณ์  หรือการที่จะเรียกว่าเป็นกรรมสมบูรณ์นั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ  4  อย่างคือ



1.  มีกิเลสเป็นแรงกระตุ้นหรือเป็นแรงผลักดัน
  กิเลส  แปลว่า  ความเศร้าหมองในจิตใจ  หรือเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต  กิเลสอันเป็นต้นเค้าแห่งความชั่ว  เรียกว่า  “อกุศลมูล”  ได้แก่ความโลก  (โลภะ)   ความโกรธ (โทสะ)   และความหลง (โมหะ)    และกิเลสที่เป็นต้นเค้าแห่งความดีเรียกว่า  “กุศลมูล”   ได้แก่  ความไม่โลภ (อโลภะ)   ความไม่โกรธ   ไม่ประทุจร้าย  (อโทสะ)   และความไม่หลงผิด (อโมหะ)   กิเลสเหล่านี้มีอยู่ในขันธสันดานของสัตว์โลกที่ยังเป็นปุถุชน  และเหยื่อล่อให้เกิดกิเลส  ก็คือ   เบญจกามคุณ (กามคุณ 5)  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส   สัมผัส  กรรมหรือการกระทำก็อาศัยกิเลสเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นหรือผลักดัน



2.  มีเจตนาหรือความตั้งใจ
  เจตนา  ก็คือ การตั้งใจหรือจงใจ   เป็นปัจจัยอันหนึ่งของจิต  กรรมคือ การกระทำหรือเมล็ดพันธุ์  ผลของการกระทำหรือผลที่เกิดขึ้น   เรียกว่า “กรรมวิบาก”   (ผลของกรรม)   เจตนาต่างๆ  นั้นอาจเป็นไปได้ทั้งในด้านดีและในด้านเลว  ดังนั้นการกระทำอาจเป็นได้ทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์  ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับว่าผลของการกระทำนั้น  ๆ  มีเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร  การเกี่ยวโยงต่อเนื่องอันไม่จบสิ้นของการกระทำและผลของการกระทำ  เหตุปัจจัยกับผล  หรือเมล็ดพันธุ์กับผลไม้เหล่านั้นได้เกิดต่อเนื่องกันไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาแห่งปรากฏการณ์ของร่างกาย  และจิตใจของสภาพที่เป็นอยู่  มีอยู่



3.  การกระทำหรือการเคลื่อนไหว
  เมื่อมีเจตนาเกิดขึ้นแล้วคนเราก็จะมีการกระทำไปตามเจตนา   หรือความมุ่งหมายนั้นโดยอาศัยเครื่องมือ  คือ  กาย  วาจา  และใจ  และเมื่อเกิดการกระทำแล้วมันก็จะผลิตผลออกมา   เรียกว่า  ผลกรรม  ผลของการกระทำทั้งหลายย่อมจะทำให้เกิดความต้องการ  และความทะยานอยากขึ้นอีก    จึงกลายเป็นเวียนหรือวงจรชีวิต   เรียกว่า  “วัฏฏะ  3”  ได้แก่  กิเลส  กรรม   และวิบาก



4.  ผลสำเร็จ
  หมายถึง  การกระทำนั้นเกิดผลสำเร็จตามเจตนา  (ความตั้งใจหรือความมุ่งหมาย)   ที่ตั้งไว้ทุกประการเช่น  ตั้งใจจะฆ่าเขาให้ตายและก็สามารถฆ่าเขาตายได้สำเร็จเป็นต้น
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า  การกระทำที่สมบูรณ์หรือการกระทำที่จะเรียกว่าเป็นกรรมที่สมบูรณ์นั้น  ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ  4  อย่าง  ดังกล่าวข้างต้นนั้น  พระพุทธเจ้า จึงทรงเน้นว่า  การกระทำที่มีเจตนาจึงจะเรียกว่าเป็น  “กรรม”
 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://www.gotoknow.org/posts/216000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น